TH EN
เทศบาลตำบลครึ่ง จ.เชียงราย

อัพเดต : 10/06/2019 17:16:37

 

แหล่งเรียนรู้การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน เทศบาลตำบลครึ่ง จ.เชียงราย  เป็นแหล่งเรียนรู้แห่งที่ 5 ของประเทศและเป็นแห่งที่ 2 ของภาคเหนือ มีจุดเริ่มต้นจากการที่พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ท่าน ว.วชิรเมธี) ได้ร่วมการเสวนา “3R กลยุทธ์นำไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” จากงานดังกล่าวท่านมีความสนใจและเห็นถึงความสำคัญของเรื่องปัญหาขยะและวัสดุรีไซเคิลเป็นอย่างยิ่ง และได้เยี่ยมชมและศึกษาดูงานด้านการจัดการขยะและวัสดุรีไซเคิลเพิ่มเติม ณ แหล่งเรียนรู้การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เขตประเวศ จ.กรุงเทพฯ ภายหลังการศึกษาดูงานดังกล่าว ท่านจึงมีความประสงค์ให้ขยายผลการดำเนินการไปยังชุมชนบ้านครึ่งใต้ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน เพื่อเป็นต้นแบบการเรียนรู้แนวทางการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนตั้งแต่ต้นทาง และขยายองค์ความรู้ต่อไปยังชุมชนอื่นๆในพื้นที่ต่อไป

        สำหรับแหล่งเรียนรู้การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนเทศบาลตำบลครึ่ง มีจุดเด่นในด้านการพัฒนาชุมชนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จนนำไปสู่การเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอพียง “อยู่เย็น เป็นสุข” และมีความเข้มแข็งในแบบการพึ่งพาตนเอง รวมถึงมีการส่งเสริมในด้านการจัดการขยะอย่างถูกวิธีและมีการนำกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด


แหล่งเรียนรู้ฯ เทศบาลตำบลครึ่ง ประกอบด้วยฐานการเรียนรู้ จำนวน 4 ฐาน ดังนี้
ฐานการเรียนรู้ที่ 1 บ้านครึ่งใต้ หมู่ที่ 3

     บ้านครึ่งใต้ มีระบบการบริหารจัดการหมู่บ้านตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เน้นกระบวนการพึ่งตนเองเป็นแนวทางในการพัฒนาหมู่บ้าน มีการเปิดเวทีประชาคมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา จนพัฒนาเป็นหมู่บ้านน่าอยู่และอยู่ในระดับ “มั่งมี ศรีสุข” เกิดการรวมกลุ่มต่างๆ ในชุมชน โดยในฐานบ้านครึ่งใต้ ประกอบด้วย 11 ฐานย่อย ดังนี้

1. แหล่งเรียนรู้ด้านการทอผ้า และการบริหารจัดการกลุ่ม
เรียนรู้กระบวนการทอผ้า และการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กระเป๋า ผ้าถุง เสื้อผ้าชุดพื้นเมือง เป็นต้น รวมทั้งพัฒนาและปรับปรุงไปสู่ระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ของตำบล
2. แหล่งเรียนรู้การตัดเย็บเสื้อผ้า
เรียนรู้กระบวนการและการดำเนินงานของกลุ่มเครือข่ายสตรีทอผ้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการนำผ้าจากกลุ่มสตรีทอผ้ามาแปรรูป จนนำไปสู่การรับผ้าจากโรงงานมาตัดเย็บเป็นอาชีพเสริมได้อีกทางหนึ่ง
3. แหล่งเรียนรู้อาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐาน
เรียนรู้การจัดกิจกรรมของกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐาน (อสม.) การวัดส่วนสูง ชั่งน้ำหนัก วัดความดัน การนวดแผนโบราณโดยการตอกคลายเส้น พร้อมการสาธิต
4. แหล่งการเรียนรู้น้ำดื่มชุมชน
เรียนรู้กระบวนการทำงานของระบบ ในส่วนการติดตั้ง การจ่ายระบบน้ำ การซ่อมบำรุงรักษา รวมทั้งการบริหารจัดการของกลุ่ม เพื่อลดรายจ่ายของชาวบ้านในการซื้อน้ำดื่มจากโรงงานภายนอกชุมชน
5. แหล่งเรียนรู้การทำแคบหมู/ขนม/น้ำพริก
เรียนรู้การทำแคบหมู ขนม น้ำพริกสูตรต่างๆ ตามท้องถิ่น รวมถึงการถนอมอาหาร และการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สามารถนำไปสร้างอาชีพเสริมให้กับชุมชนได้
6. แหล่งเรียนรู้การจักสานหวาน/ไม้ไผ่
เรียนรู้การจักสานหวาย/ไม้ไผ่ของชุมชน ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น และส่งเสริมงานหัตถกรรม พัฒนาต่อยอด เพื่อตอบสนองความต้องการในการดำรงชีวิตและสร้างรายได้เสริม
7. แหล่งเรียนรู้การคัดแยกขยะ และร้านศูนย์บาท
เรียนรู้เกี่ยวกับร้านศูนย์บาท การคัดแยกขยะประเภทต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัสดุรีไซเคิล ซึ่งมีมูลค่าแทนเงินสดในการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน รวมทั้งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของชุมชนได้ นอกจากนี้ยังมีการให้ความรู้ในการนำบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วและเศษวัสดุเหลือใช้มาใช้ประโยชน์ โดยการประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้อีกทางหนึ่ง
8. แหล่งเรียนรู้กลุ่มเพาะเลี้ยงไส้เดือน
เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะอินทรีย์ในครัวเรือน โดยการเพาะเลี้ยงไส้เดือน ซึ่งไส้เดือนทำหน้าที่ในการช่วยย่อยสลายขยะอินทรีย์ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้น้ำและมูลจากการเพาะเลี้ยงไส้เดือนยังสามารถนำไปใช้แทนปุ๋ยเคมีในแปลงเกษตร ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้
9. แหล่งเรียนรู้การเลี้ยงปลาในนาข้าว
เรียนรู้การทำการเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน ตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่
10. แหล่งเรียนรู้ประวัติท่าน ว.วชิรเมธี
เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติและถิ่นกำเนิดของท่านมหาวุฒิชัย วชิรเมธี
11. แหล่งเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการแหล่งน้ำนอกเขตชลประทาน
เรียนรู้วิธีการบริหารจัดการน้ำโดยใช้พลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมการสาธิต

ฐานการเรียนรู้ที่ 2 บ้านประชาภิวัฒน์ หมู่ที่ 10
เน้นการเรียนรู้การจัดการขยะในรูปแบบต่างๆ รวมถึงเรียนรู้วิถีชีวิต และภูมิปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่น ประกอบด้วย 5 ฐานย่อย ดังนี้

1.  แหล่งเรียนรู้การคัดแยกขยะและสิ่งประดิษฐ์รีไซเคิล
เรียนรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะตามประเภท และการนำบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วและเศษวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์ โดยการประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์หรือสินค้าต่างๆ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน
2. แหล่งเรียนรู้ร้านค้าเครือข่าย ร้านศูนย์บาท
เรียนรู้การใช้วัสดุรีไซเคิลแทนเงินสดในการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน ตามร้านค้าเครือข่ายที่เข้าร่วมกิจกรรม โดยไม่จำกัดประเภทสินค้าในค้าร้านเครือข่าย เพื่อเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือน
3. แหล่งเรียนรู้กลุ่มทอผ้า
เรียนรู้กระบวนการทอผ้า และการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กระเป๋า ผ้าถุง เสื้อผ้าชุดพื้นเมือง รวมทั้งพัฒนาและปรับปรุงไปสู่ระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ของตำบล
4. แหล่งเรียนรู้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ (บ้านครึ่งใต้และบ้านประชาภิวัฒน์)
เรียนรู้การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพจากวัสดุในท้องถิ่น ซึ่งมีวิธีการตั้งแต่การเทกอง จนบรรจุในรูปปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิตสินค้าทางการเกษตร และเพิ่มมูลค่าให้มีปุ๋ยมีราคาที่สูงขึ้น
5. แหล่งเรียนรู้โรงสีข้าวกล้อง (บ้านครึ่งใต้)
เรียนรู้กรรมวิธีการสีข้าวกล้องพร้อมการสาธิต

ฐานการเรียนรู้ที่ 3 โรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลตำบลครึ่ง
เน้นการศึกษาการออมขยะเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน และการนำบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วและเศษวัสดุเหลือใช้มาผลิตเป็นสิ่งประดิษฐ์ โดยประกอบด้วย 2 ฐานย่อย ดังนี้
1.  กิจกรรมออมขยะ ออมบุญ (ผ้าป่ารีไซเคิล) 
เรียนรู้การออมบุญ หรือการทำบุญโดยใช้ขยะรีไซเคิลแทนเงินสด ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อยอดจากร้านศูนย์บาทบ้านครึ่งใต้  โดยขยะรีไซเคิลที่ได้จะให้ทางกลุ่มคัดแยกขยะมารับ และให้คูปองกับทางโรงเรียนเพื่อนำไปแลกสินค้าภายในร้านศูนย์บาท สำหรับผลกำไรจากกิจกรรมใช้สำหรับเยี่ยมผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงในเขตพื้นที่ตำบลครึ่ง
2.  กิจกรรมสิ่งประดิษฐ์จากเศษวัสดุเหลือใช้
เรียนรู้การทำดอกไม้ประดิษฐ์จากเศษวัสดุเหลือใช้โดยกลุ่มนักเรียนโรงเรียนผู้สูงอายุ เช่น การทำดอกไม้จันทน์ พวงรีด และสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ สำหรับจำหน่ายในพิธีขาว-ดำ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ และมอบรายได้ส่วนหนึ่งกับเจ้าภาพในพิธีเพื่อเป็นการร่วมทำบุญ
 
ฐานการเรียนรู้ที่ 4 โรงเรียนบ้านหลวง
ฐานการเรียนรู้โรงเรียนบ้านหลวง เน้นการศึกษาการบริหารจัดการขยะในโรงเรียนตามรูปแบบธนาคารวัสดุรีไซเคิล เพื่อส่งเสริมการคัดแยกขยะและปลูกฝังนิสัยการออมให้กับเยาวชน โดยรายได้จากผลต่างการจำหน่ายวัสดุรีไซเคิล นำไปซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคเพื่อเยี่ยมเยียนผู้พิการในชุมชน

โดยสามารถติดต่อสอบถามเพิ่ีมเติมได้ที่ คุณสมเพชร ทะชัย โทร 080-090-9295 หรือ คุณอัญชลีกร นำชัย โทร 084-171-5288