TH EN
เทศบาลนครอุดรธานี จ.อุดรธานี

อัพเดต : 10/06/2019 17:18:43

 
           แหล่งเรียนรู้การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน เทศบาลนครอุดรธานี จ.อุดรธานี แหล่งเรียนรู้ลำดับที่ 4 ของประเทศ และเป็นแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจุดเด่นในการดำเนินการส่งเสริมให้ชุมชนต่างๆในเทศบาล ให้นำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ในรูปแบบต่างๆอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการต่อยอดกิจกรรมด้านเกษตรอินทรีย์
 
ฐานการเรียนรู้ของแหล่งเรียนรู้ฯ เทศบาลนครอุดรธานี ประกอบด้วย

ฐานการเรียนรู้ที่ 1 ชุมชนโนนอุทุมพร

ชุมชนโนนอุทุมพร เป็นชุมชนนำร่องแห่งแรกในการแก้ปัญหาขยะของเทศบาลนครอุดรธานี ซึ่งมีจุดเด่น คือ การใช้วัสดุรีไซเคิลลดค่าครองชีพในรูปแบบของร้านศูนย์บาท นวัตกรรมไส้เดือนดินกินขยะอินทรีย์และได้ปุ๋ยชีวภาพ นวัตกรรมก๊าซชีวภาพทดแทนจากขยะอินทรีย์ นวัตกรรมคอนกรีตมวลเบาจากโฟมและกระดาษใช้แล้ว ไบโอดีเซลและสบู่จากน้ำมันใช้แล้ว สิ่งประดิษฐ์และผลิตภัณฑ์จากวัสดุรีไซเคิล เช่น ดอกไม้ประดิษฐ์ กระเป๋ากล่องนม เป็นต้น กลุ่มอาชีพที่ผลิตสินค้าประเภทแชมพูและน้ำยาล้างจาน การส่งเสริมการปลูกผักริมรั้ว เพาะพันธุ์ต้นกล้า และการปลูกผักแนวดิ่ง และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้เทศบาลฯ ยกระดับให้ชุมชนแห่งนี้เป็นต้นแบบและเป็นพี่เลี้ยงให้กับชุมชนอื่นๆ ในการดำเนินการจัดการขยะต่อไป

ฐานการเรียนรู้ที่ 2 ชุมชนพิชัยรักษ์

ชุมชนพิชัยรักษ์เป็นชุมชนที่มีจุดเด่น คือ การคัดแยกขยะในครัวเรือน การจัดการถุงพลาสติกและกล่องนม ด้วยการจัดตั้งศูนย์รับซื้อและรับบริจาคในร้านค้า โรงเรียน การนำขยะอินทรีย์มาผลิตเป็นปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ รวมถึงการส่งเสริมการปลูกผักริมรั้วในชุมชน

ฐานการเรียนรู้ที่ 3 ชุมชนดอนอุดม 3

ชุมชนดอนอุดม 3 มีจุดเด่น คือ การเรียนรู้เรื่องการจัดการขยะอินทรีย์ด้วยการทำน้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยหมัก การเรียนรู้เรื่องการจัดการวัสดุรีไซเคิลในครัวเรือนและการจัดตลาดนัด 0 บาท (เดือนละ 1 ครั้ง) การเรียนรู้เรื่องการจัดการขยะอันตรายโดยจัดตั้งจุดพักขยะอันตรายเพื่อส่งให้เทศบาลฯ นำไปกำจัดต่อ นอกจากนั้น ชุมชนแห่งนี้ยังยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยการปลูกพืชผักสวนครัวและพืชสมุนไพรตามแนวถนนหรือพื้นที่ๆ มีดินเพียงพอที่จะปลูกภายในชุมชน ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนสามารถนำเก็บไปรับประทานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ฐานการเรียนรู้ที่ 4 ชุมชนศรีสุข

ชุมชนศรีสุขมีความโดนเด่นในการอยู่ร่วมกันของหลายเชื้อชาติ มีทั้ง ญวน ลาว แขก และไทย ทำให้มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย แต่สามารถรวมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกันได้ เช่น การส่งเสริมการผลิตเจลล้างมือและน้ำยาล้างจานใช้กันเองในชุมชน การส่งเสริมการปลูกแปลงผักในเมือง เป็นต้น นอกจากนี้ ชุมชนมีร้านอาหารเป็นจำนวนมาก จึงมีการส่งเสริมให้ร้านอาหารนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบของปุ๋ยหมักและน้ำหมัก

ฐานการเรียนรู้ที่ 5 ชุมชนโพธิสมภรณ์และคลองเจริญ 2

ชุมชนโพธิสมภรณ์และคลองเจริญ 2 มีจุดเด่นในการจัดการขยะด้วยหลักการ 3R คือ การลดการใช้ การใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงความโดดเด่นในการสร้างพื้นที่สีเขียวโดยการปลูกไม้ดอก ไม้ประดับ พืชสมุนไพร การปลูกแปลงผักปลอดสารพิษ และเป็นชุมชนพี่เลี้ยงให้กับชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นศูนย์กลางการทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกันของ 4 ชุมชน

ฐานการเรียนรู้ที่ 6 ชุมชนดอนอุดม 2

ชุมชนดอนอุดม 2 มีจุดเด่น คือการจัดการวัสดุรีไซเคิลด้วยการส่งเสริมการคัดแยกขยะในครัวเรือนและกิจกรรมร้านศูนย์บาท นอกจากนั้น ยังต่อยอดด้วยกิจกรรมร้านเกมส์ศูนย์บาทที่ใช้วัสดุรีไซเคิลแทนค่าเช่ารายชั่วโมง และกิจกรรมฌาปนกิจศูนย์บาท คือ เอาวัสดุรีไซเคิลมาเป็นค่าฌาปนกิจ

ฐานการเรียนรู้ที่ 7 ชุมชนศรีชมชื่น 2

ชุมชนศรีชมชื่น 2 มีจุดเด่น การส่งเสริมการคัดแยกขยะในครัวเรือน การนำขยะอินทรีย์กลับมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบของปุ๋ยหมัก และต่อยอดโดยการนำมาใช้กับการปลูกผักไร้ดิน ผักปลอดสารพิษ และการปลูกผักกระเช้าของขวัญ การทำน้ำหมักภายในชุมชน อีกทั้งยังมีแนวคิดในการนำขยะรีไซเคิลมาแลกพันธุ์ปลาสวยงามซึ่งเพาะเลี้ยงขึ้นเองในชุมชน
 

รางวัลดีเด่น

-  รางวัลชมเชย โครงการประกวดชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) เฉลิมพระเกียรติ 86 พรรษา ระดับประเทศ ประเภทกลุ่ม M ชุมชนขนาดกลาง ปี 2556
-  รางวัลชมเชย โครงการประกวดชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 80 ชุมชน ระดับประเทศ ประเภทกลุ่ม M ชุมชนขนาดกลาง ปี 2555
-  รางวัลนวัตกรรมดีเด่น โครงการลดเมืองร้อนด้วยมือเราปีที่ 6 (TOYOTA-TEI) ปี 2554
-  รางวัลกิจกรรมดีเด่น อันดับที่ 3 ระดับประเทศ ประเภทชุมชน โครงการลดเมืองร้อนด้วยมือเราปีที่ 6 (TOYOTA-TEI) ปี 2554

โดยสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณกิตติยา อินทรจักร โทร 042-325-176 ต่อ 2130 หรือ 089-840-6700
ดาวน์โหลดข้อมูลเพิ่มเติม ที่นี่

Download