TH EN

ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ กทม.

 

        แหล่งเรียนรู้การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ กรุงเทพมหานคร แหล่งเรียนรู้แห่งแรกของประเทศและของภาคกลาง โดยเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2555 เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องให้แก่ผู้สนใจได้เข้ามาศึกษาดูงาน โดยมีกิจกรรมต่างๆ อันประกอบด้วย นวัตกรรมทางสังคมใช้ขยะรีไซเคิลแทนเงิน หรือ “ร้านศูนย์บาท” โดยเป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่ร้านค้าสะดวกซื้อสามารถใช้ขยะแทนเงินสดและกิจกรรมอื่นๆ ทั้งนี้หลักการดำเนินงานของแหล่งเรียนรู้ฯ ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ ดำเนินการภายใต้ 3 แนวทาง ซึ่งใช้ขยะเป็นตัวขับเคลื่อน คือ


1. สร้างรายได้จากขยะ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกกลุ่มเป้าหมายในชุมชน อันประกอบด้วย ผู้ประกอบอาชีพซาเล้ง สมาชิกชุมชน และเยาวชน ในการคัดแยกขยะตามประเภทและนำขยะแต่ละประเภทมาต่อยอดให้เกิดรายได้ ซึ่งดำเนินการผ่านกิจกรรมศูนย์วัสดุรีไซเคิล และธนาคารคนจน

2. พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากขยะให้ครอบคลุมทุกประเภทโดยขึ้นอยู่กับชนิด อาทิ ขยะรีไซเคิลแทนเงินสดเข้าร้านศูนย์บาท หรือต่อยอดเพิ่มมูลค่าทำสิ่งประดิษฐ์ ขยะเศษอาหารและขยะเปียกแปรรูปใช้ประโยชน์ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลา

3. กองทุนสวัสดิการ เมื่อมนุษย์ทุกคนย่อมมีศักดิ์และสามารถดูแลรับผิดชอบชีวิตตนเองได้ แนวคิดการใช้ขยะรีไซเคิลมาทำสวัสดิการ เพื่อดูแลความเป็นอยู่ของสมาชิกชุมชนจากครรภ์มารดา สู่เชิงตะกอน โดยผ่านกิจกรรม ประกันชีวิตวันละ 1 บาท


กิจกรรมภายในแหล่งเรียนรู้ฯ ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ ประกอบด้วย

ศูนย์วัสดุรีไซเคิล

สมาชิกศูนย์วัสดุรีไซเคิล มี 2 ส่วน คือ ชุมชนในพื้นที่ ซึ่งสามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกร้าน 0 บาท และสมาชิกของชุมชนในพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วย อาชีพรับซื้อของเก่าสามารถขึ้นทะเบียนกับกลุ่มซาเล้ง โดยการรวมกลุ่มของสมาชิกจะมีการสมัครสมาชิกและศูนย์มีการบริหารจัดการในรูปแบบของการถือหุ้น ซึ่งสมาชิกสามารถร่วมลงหุ้นได้ หุ้นละ 100 บาท ไม่เกิน 10 หุ้นต่อคน โดยสามารถนำขยะมูลค่าเทียบเท่ามาลงหุ้นได้ ซึ่งนอกเหนือจากผลประโยชน์ในการต่อรองด้านราคากับร้านรับซื้อ ซึ่งศูนย์เป็นผู้รวบรวมดำเนินการไปจำหน่ายแล้ว
ผลกำไรส่วนต่างๆจะถูกจัดสรร เป็น 4 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 จำนวนร้อยละ 50 หักเข้ากลุ่มเป็นงบในการพัฒนาขยายกิจการ และกิจกรรมส่วนรวมอื่นๆ
ส่วนที่ 2 จำนวนร้อยละ 20 จัดสรรใช้เป็นค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ
ส่วนที่ 3 จำนวนร้อยละ 15 จ่ายปันผลสำหรับผู้ถือหุ้นตามจำนวนหุ้น
ส่วนที่ 4 จำนวนร้อยละ 15 จ่ายปันผลสำหรับผู้ซื้อสินค้าในร้าน ซึ่งต้องเป็นสมาชิก (ผู้ซื้อสินค้าทั่วไปที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ไม่ได้รับเงินปันผล)


กองทุนสวัสดิการ

จัดทำสวัสดิการและส่งเสริม ให้สมาชิกมีการออมโดยใช้วัสดุรีไซเคิลมาออมมูลค่าวันละ 1 บาท โดยการใช้สิทธิ์ต้องส่งเงินออมเป็นระยะเวลา 6 เดือนต่อเนื่องขึ้นไปซึ่งสมาชิกจะได้สิทธิประโยชน์
สุขภาวะ

-   ป่วยไข้ อุบัติเหตุ กรณีพักฟื้นในโรงพยาบาล สนับสนุนให้คืนละ 200 บาท ไม่เกินครั้งละ 7 คืน
-   คลอดบุตร สนับสนุน 500 บาทต่อปี
-   ค่ารักษาพยาบาล (ยานอกบัญชี) 50 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 1 ครั้ง และสนับสนุนค่าพาหนะเดินทางไปกลับโรงพยาบาลปีละ 200 บาท
ฌาปนกิจสงเคราะห์
-   สนับสนุนเงิน 2,000 บาท สำหรับการเป็นเจ้าภาพในงานศพ 1 คืน และสนับสนุนโรงศพ 1 ใบ
-   สำหรับสมาชิกที่นับถือศาสนอิสลาม กรณีเสียชีวิต สนับสนุนเงิน 3,000 บาท
-   ก่อนเสียชีวิต สนับสนุนอาหารมื้อสุดท้ายไม่เกิน 200 บาท 
ด้านอื่นๆ
-   สนับสนุนทุนการศึกษา 500 บาทต่อปีต่อบุตร 1 คน โดยต้องมีเกรดเฉลี่ย 2.5 ขึ้นไป
-   รายได้จากสหกรณ์ร้านค้าสมทบเข้ากองทุน ร้อยละ 2

แปลงเกษตรผสมผสาน/สวนผักคนเมือง

แปลงเกษตรแบบผสมผสาน ดำเนินการโดยสมาชิกของชุมชน ซึ่งมีการปลูกผักปลอดสารพิษ พืชผักสวนครัว และเลี้ยงปลา ให้สมาชิกสามารถนำไปประกออบอาหารในครัวเรือน โดยสมาชิกไม่จำเป็นต้องนำเงินมาซื้อผักแต่ใช้ขยะมาแลกแทน โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องหยิบไปแต่พอกิน และสมาชิกจะต้องมาร่วมกันลงขันในการปรับปรุงแปลงเกษตร ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ส่วนกลาง


ธนาคารคนจน

เกิดจากแนวคิดการปลูกฝังจิตสำนึกด้านการออมควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมโดยใช้ขยะแทนเงิน แต่ต้องการลดขั้นตอนความยุ่งยากของระบบธนาคารขยะที่มีการปฏิบัติตามปกติ โดยขยะทุกๆ 100 บาท ที่นำมาฝากกลุ่มฯ จะสมทบให้เพิ่มในอัตรา ร้อยละ 5 และสมาชิกสามารถถอนเงินต้นไปได้เลย


ร้าน 0 บาท

เดิมเป็นการลงหุ้นของสมาชิกในรูปแบบของสหกรณ์ เพื่อต้องการที่จะดูแลสภาพความเป็นอยู่และปากท้องสมาชิกในชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจน โดยใช้หลักการทีว่า “สมาชิกส่วนใหญ่อาจไม่มีเงินสำหรับซื้อสินค้า แต่ทุกคนมีวัสดุรีไซเคิลอยู่ในบ้าน ซึ่งสามารถใช้แทนเงินสดแลกสินค้าในร้านได้”


แปรรูปวัสดุรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์

สมาชิกของร้านค้านั้นประกอบด้วยคนในชุมชน ซึ่งเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและดูแลกิจกรรมและกลุ่มอาชีพแม่บ้าน ซึ่งมีการผลิตสินค้าจากวัสดุรีไซเคิลไว้จำหน่ายเป็นรายได้เสริม



 

 

โดยสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณพีรธร เสนีย์วงศ์ โทร 086-793-5997

รายละเอียดผู้สมัคร

วัน เดือน ปี เวลา :

อาหาร
ที่พัก

สถานที่ที่จะให้บรรยาย :

เงื่อนไขการจอง
1. โปรดจองล่วงหน้าก่อนเข้าศึกษาดูงาน 5 วันทำการ และหากไม่มีการติดต่อกลับภายใน 2 วันทำการกรุณาโทร 02-2721552 ต่อ 29
2. กรณีผู้เข้าศึกษาดูงานเป็นชาวต่างประเทศ กรุณาจัดหาล่ามมาด้วย หากไม่มีล่ามจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม